หน้าแรก หน้ารวมบทความ “สร้างเสน่ห์จากน้ำเสียง” ฝึกง่ายๆ

“สร้างเสน่ห์จากน้ำเสียง” ฝึกง่ายๆ


ผู้เขียน : อาจารย์ วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์   วันที่ :   จำนวนผู้เข้าชม 1510 คน

กด Like กด Share บทความให้เพื่อน

Facebook Twitter Line

           สำคัญมาก ก่อนพูดทุกครั้งเราเป็นนายคำพูด ผู้พูดควรไตร่ตรองทุกประโยคที่พูด “อย่าพลั้งพลาดให้คำพูดกลับมาเป็นนายเรา” การพูดดีมีเสน่ห์ น้ำเสียงชวนฟัง ไม่จำเป็นต้องเกิดมาหน้าตาหล่อ สวย เสียงดี ทุกคนสามารถพูดให้เกิดเสน่ห์แก่ตนเอง ฝึกได้ไม่ยาก รวมไปถึงหลายคน พูดสร้างความสำเร็จในอาชีพมาแล้ว นับไม่ถ้วน แต่มีไม่น้อยที่คำพูดทำให้ ขาดที่ยืนในสังคม ด้วยประโยคที่ “ไม่ทันคิด” ให้รอบคอบ

“สร้างเสน่ห์จากน้ำเสียง” ฝึกง่ายๆ


           ไม่ว่าผู้จัดการหัวหน้า ลูกน้อง ทำงานสายอาชีพใด พบว่า น้ำเสียงมีส่วนสำคัญทำให้ “ชีวิตเกิดหรือดับ…อนาคต” ยกเว้น บุคคลพิเศษที่ไม่สามารถใช้เสียงสื่อสารได้ สวรรค์สร้างมาให้เขามีจิตใจเข้มแข็ง ฝึกปรือทักษะการสื่อสารด้วยภาษามือ แทนการใช้เสียงพูด
            ดังนั้น เมื่อเราสามารถพูดได้อย่างอิสระแล้ว เราควรใช้สิทธิในการสื่อสารที่มีอยู่ อย่างสร้างสรรค์ สร้างเสน่ห์ สร้างมิตรภาพแทนสร้างศัตรู
           หากหมั่นฝึกฝนการพูด ฝึกสังเกตนักพูด ผู้ประกาศ ผู้บริหาร หัวหน้างาน แม่ค้า ตำรวจ ทหารหรือผู้ร่วมงาน จะพบว่าแต่ละคนมีลักษณะการพูด ท่าทางความเชื่อมั่น ความมั่นใจต่างกัน แน่นอนหากคุณหมั่นฝึกการพูด ใช้น้ำเสียงตนเอง คุณจะเรียนรู้โทนเสียง จังหวะการพูดตนเองได้ดี ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใด งานประชุม นำเสนองาน พบปะลูกค้า สนทนากับกลุ่มเพื่อน คุณจะสามารถพูดได้ดีและดีเยี่ยมอย่างน่าทึ่ง
           เราเกิดมามีโทนเสียงแตกต่างกัน แต่สามารถทำให้เสียง น่าฟัง น่าเชื่อถือได้ ซึ่งวิธีฝึกนั้นไม่ยากเกินไป ก่อนอื่น มาเรียนรู้การดูแลเสียงของเรา ให้มีความคมชัด พูดได้คล่องแคล่ว ซึ่งเป็นพื้นฐานข้อแรกในการฝึกใช้น้ำเสียง

           การดูแลเสียงก่อนและหลังพูด 

           ออกกำลังกาย : แน่นอน หากร่างกายแข็งแรง เราจะมีพลังในการใช้เสียงมาก แต่หากเราเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เจ็บป่วย ไม่สบาย คุณจะพบว่า น้ำเสียงมีลักษณะช้า ไม่กระตือรือร้น ผู้ฟังฟังแล้วเกิดความรู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ตามผู้พูด วิธีออกกำลังกายที่ดีนั้น เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิค โยคะ ถ้าไม่มีพื้นที่กว้างบริเวณรอบบ้าน เราสามารถออกกำลังกายในห้องได้ เช่น ซิทอัพ หรือวิดพื้น วันละ 100 ครั้ง นอกจากช่วยลดพุงแล้ว กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง ได้เหงื่อดี ปอดขยาย มีพลังอีกมากในการใช้น้ำเสียง ถ้าอยากได้บรรยากาศผ่อนคลาย เดินเร็วหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง สบายๆพอมีเหงื่อ วันละ 30 นาที ระยะทางไกลพอควร
           ฝึกหายใจ : การหายใจ ต้องฝึกให้เป็นจังหวะ มีความพอดี ปกติเราหายใจเข้า หายใจออกเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามทีคุณต้องใช้น้ำเสียงพูด เป็นเวลานาน หรือเปล่งน้ำเสียงให้ดังกังวาน การหายใจนั้นสำคัญมาก ควรรู้จังหวะฝึกให้สัมพันธ์กับการพูด
              - หายใจเข้า ฝึกหายใจเข้าอย่างช้าๆ ลึกๆ ขณะหายใจเข้า หน้าท้องจะพอง ขยายตัวออกเล็กน้อย ลองฝึกประจำทุกวัน จะพบว่าทำได้เองแบบธรรมชาติ
              - หายใจออก ฝึกหายใจออก ช้าๆ ลึกๆ ขณะหายใจออกหน้าท้องแบนราบ แฟบลง สำหรับผู้ที่มีไขมันสะสมไว้หน้าท้องมากหน่อย ให้สังเกตว่าหน้าท้องยุบลงเล็กน้อย เมื่อหายใจเข้าหน้าท้องกลับมาเท่าเดิม
              - ขณะพูด ฝึกหายใจเข้า หายใจออกและฝึกพูดไปพร้อมกับหายใจ อย่างธรรมชาติ ช่วงแรกๆ พบว่าหากเรามัวแต่ กังวลเรื่องจังหวะหายใจ และการขึ้นลงของหน้าท้อง เราจะพูดแบบไม่เป็นธรรมชาติ เสียงมีลักษณะเกร็งๆ เล็กน้อย ดังนั้น ข้อควรจำในช่วงฝึกใหม่ๆ จังหวะที่เราหายใจเข้า ไม่ควรพูด 

           คำถามคือ แล้วจะหยุดพูดช่วงหายใจเข้าอย่างไร ? 

          … ช่วงหายใจเข้านั้น เป็นช่วงที่แบ่งประโยคพูด เพื่อเริ่มต่อประโยค หรือใจความถัดไป ใช้เวลา ไม่เกิน 1-2 วินาที ในช่วงรอยต่อระหว่างประโยค จังหวะแบ่งการหายใจ ฝึกแรกๆอาจดูไม่คล่อง แต่เมื่อเคยชิน รับรองพูดปรื๋อเลยค่ะ
          - พูดนานๆ เมื่อต้องใช้เสียงพูดนาน หรือเปล่งเสียงก้องนานๆ พลังในการพูดจะเริ่มลดลง วิธีการคือ ให้หายใจปกติตามธรรมชาติ ข้อห้าม สำหรับนักพูดที่ดี คือ ห้ามถอนหายใจขณะพูดในที่สาธารณะ ดูไม่สุภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ เมื่อต้องพูดนานๆ หลายชั่วโมง
          ผู้เขียนแนะนำ ให้ผู้พูด ดื่มน้ำอุ่นกลั้วคอพอดับกระหาย ไม่ดื่มอิ่มแปร้นะคะ ลดโทนเสียงดังลง 1 จังหวะ เพื่อถนอมเสียงให้มีความต่อเนื่องตลอดงาน หรือนักพูดบางท่าน จะมีเทคนิคการเบรคพักเสียงตนเอง ในขณะหนึ่ง เรียกว่า “ หยุดพูดแบบไม่หยุด” กล่าวคือ ใช้เทคนิค โยนคำถามแก่ผู้ฟัง เพื่อรอคำตอบจากผู้ฟังหลายกลุ่ม หรือการทำกิจกรรม ระหว่างพูด เช่น กิจกรรมกลุ่มแบบ Workshop สันทนาการต่างๆ เหล่านี้ ช่วยพักเสียงผู้พูดได้ดีทีเดียว แต่ระยะเวลาไม่ควรนาน เพราะจะดึงความน่าสนใจผู้พูดไป
           พักผ่อน : เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะหากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ระบบในร่างกายจะไม่พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ เสียงไม่สดชื่น ดูเหนื่อยง่าย การพักผ่อนที่ดี คือ นอนหลับวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย หากเป็นไปได้ นอนก่อน 22.00 น. ถือว่าดีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบในร่างกายได้พัก เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่ในวันถัดไป แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะต้องเร่งงานหนัก นอนน้อยช่วงนั้น เป็นเวลาสั้นๆ ไม่ควรนอนน้อยไปกว่า 6 ชั่วโมง วันต่อไปต้องปรับโหมดการนอนเข้าสู่เวลาปกตินะคะ
           เครื่องดื่มและน้ำเปล่า : สำคัญไม่แพ้ เรื่องอื่นใด คือ เครื่องดื่มที่ดื่มก่อนใช้เสียง ควรดื่มน้ำอุ่น หากเป็นไปได้ควรงดชา กาแฟ เพราะทำให้คอแห้งง่าย หากจำเป็นต้องดื่มชา กาแฟ กันง่วง (บางท่านติดงอมแงม ขาดกาแฟเหมือนร่างกายขาดสารกระตุ้นให้ตื่น) แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นตาม 1 แก้ว สำหรับนมนั้น ไม่ควรดื่มก่อนพูดเช่นกัน เพราะทำให้เกิดอาการเรียก ภาษาชาวบ้านว่า “ เหนียวในลำคอ” ทำให้การพูดไม่คล่อง ติดขัดได้ แต่หากจำเป็นจริง ให้ดื่มนมแล้วดื่มน้ำอุ่นตาม 1 แก้วเช่นกันค่ะ
           อาหาร ของว่างที่ควรรับประทาน : ไม่ว่าคุณจะต้องใช้น้ำเสียง หรือวันพักผ่อนทั่วไป แนะนำทานอาหารว่าง ผลไม้กลุ่มวิตามินซีทุกวัน ผิวพรรณสวย เสียงใส ควรหลีกเลี่ยงอาหารเย็นจัด อาหารมัน อาหารทอดกรอบ อาหารร้อนจัด อาหารรสชาติเค็มปี๋ เปรี้ยวจี๊ด หวานแบบน้ำตาลเรียกพี่ หากหลีกเลี่ยงได้ คุณจะรักษาน้ำเสียงได้ดีตลอดทุกวัน สำคัญไปกว่านั้น คือสุขภาพดีตามมา อีกด้วย สำหรับใครที่ชอบพกพาลูกอม หมากฝรั่ง ยาอมชุ่มคอ ติดกระเป๋าประจำ ควรงดรับประทานของประเภทนี้ ยิ่งทำให้ลำคอเกิดอาการชา อักเสบ คอแห้งได้ง่าย ควรรับประทานอาหารแต่พอดี ไม่อิ่มแปร้พุงกางเกินพอดี อาจเกิดอึดอัดพุง แน่นท้อง หาวเรอ เอ้ออ้าตามมาเป็นได้
            ห้ามนอนเปิดแอร์เย็นจัด : ผู้อ่านคงแปลกใจว่า นอนเปิดแอร์ เกี่ยวอะไรกับเสียงพูด เกี่ยวข้องแน่นอนค่ะ เพราะอากาศเย็นมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ยิ่งนอนในห้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ ชื่นใจ วันรุ่งขึ้น คุณจะรู้สึกเหมือนเสียงแหบแห้ง มีอาการคัดจมูกได้ หากวันรุ่งขึ้นต้องใช้เสียงพูดนานๆ แนะนำให้นอนในห้องแอร์ธรรมชาติ (งดเปิดแอร์ ประหยัดไฟดีค่ะ) แต่ถ้าห้องนอนลักษณะทึบ ปิดกั้นลมตามธรรมชาติพัดเข้ามา คุณสามารถนอนเปิดแอร์ได้ เปิดอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศา หาผ้าห่มนวมหนาๆ สิ่งของที่ลืมไม่ได้เวลาจัดกระเป๋าเดินทาง คือ ผ้าพันคอ ต้องมีไว้ติดกระเป๋าเดินทางตลอด พกพาไปทุกที่ เพื่อให้ความอบอุ่นร่างกาย รับรองตื่นขึ้นมาตอนเช้า คุณจะรู้สึกสดชื่น สบายตัว
           งดใช้เสียง : ในการรักษาเส้นเสียงให้น่าฟัง นักร้องหลายท่านเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า เสียงยังทรงพลัง และไม่แตกกระเจิง เพราะเขาเหล่านั้นรู้จักรักษาเส้นเสียง การถนอมเสียงคือ งดใช้เสียงดังต่อไปนี้
               - งดการตะโกนดังๆ การตะโกนทำให้เส้นเสียงแตกง่าย บางรายต้องได้รับการผ่าตัดก็มี (โดยเฉพาะหัวหน้างาน ต่อไปต้องงดตะโกน ถามหางานหรือต่อว่าลูกน้อง ดังๆ ) ยืนคุยใกล้ๆ เรียกมาปรับความเข้าใจระยะรู้ใจ ดีกว่า “ตะโกนดังไปสามบ้านแปดบ้าน”
              - งดตะโกนแข่งเสียงคู่ เหมือนนกเขาขันคู่ กล่าวคือ พูดเสียงดังแข่งกับเสียงรอบข้าง เช่นเสียงรถยนต์ , เสียงเครื่องจักรทำงาน , เสียงเพื่อนร่วมงานจับกลุ่มคุยกัน
              - งดพูดเสียงสูง การพูดทั่วไป การตำหนิหรือการสั่งงาน ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสูงปรี๊ดแตก ยิ่งทำให้เส้นเสียงพังง่าย ความรู้สึกคนฟังก็พังลงเช่นเดียวกัน วิธีการที่ดี คือ น้ำเสียงผู้พูดกดเสียงลงหรือเพิ่มโทนเสียงตนเอง 1-2 จังหวะ เปลี่ยนเป็นเสียงสูงระดับ 1 หรือเสียงต่ำระดับ 1 อยู่ในจังหวะกำลังดี น้ำเสียงพูดทั่วไป เสียงธรรมดาไม่เหมาะกับการสั่งงานหรือการเจรจา ตำหนิ ติชมงาน 

             ฝึกน้ำเสียงให้ทรงเสน่ห์ 

          สำหรับ วิธีฝึกน้ำเสียงให้กลายเป็นผู้ทรงเสน่ห์นั้น ผู้เขียนขอเริ่มจาก ให้คุณผู้อ่าน

          1. วิเคราะห์น้ำเสียง : ตัวคุณเอง เพื่อประเมินน้ำเสียงตัวเราว่า มีลักษณะโทนเสียงแบบใด จะได้ปรับน้ำเสียง ท่าทาง ให้เหมาะกับตนเอง มีความเป็นธรรมชาติ การพูดที่มีเสน่ห์ คือ พูดธรรมชาติ น้ำเสียงตรึงใจผู้ฟัง ท่าทางถูกจริตพองามสัมพันธ์กับเสียงพูด วิธีวิเคราะห์เสียง คือ ฝึกวิเคราะห์ลักษณะเสียงตัวเรา ว่าจริงๆแล้วคุณเองมีเสียงแบบไหน ใหญ่ เล็ก แหลม สูง ฝึกพูด บันทึกเสียงตนเองเพื่อฟัง ให้พูดประโยคทั่วไป ฝึกอ่านข้อความ เรื่องเล่า ในห้องโถงกว้างๆ (เหมือนการพูดคนเดียว น่ะแหล่ะ) เมื่อได้ยินเสียงตนเองหรือเปิดให้เพื่อนฟัง จะทราบทันทีว่าเสียงเราเมื่อได้ฟังแล้วเป็นเสียงแบบใด
          2. ปรับโทนสูงต่ำเสียง : เมื่อวิเคราะห์แล้วว่า ตนเองมีพื้นฐานเสียงแบบใด ให้ฝึกปรับโทนเสียง ให้เสียงมีความดัง เบา สม่ำเสมอ ไม่พูดแบบท่องหนังสือ พูดดังเว่อวังเกินงาม หลักการ คือ พูดไปแล้วรู้สึกเสียงดังเป็นธรรมชาติ น่าฟัง ข้อนี้ ต้องฝึกเล่าเรื่อง ฝึกพูดในกลุ่มเพื่อน ในครอบครัว ยิ่งมีคนคอยฟัง ติชมด้วยยิ่งดี
          3. ปรับจังหวะเว้นวรรคเสียง : คือการฝึกเว้นวรรคประโยค เว้นวรรคคำ ฝึกหยุดนิ่งบางช่วง จังหวะที่ต้องพูดในเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกผู้ฟัง ในข้อนี้ ผู้พูดควรฝึกหยุดชั่วขณะหนึ่ง แสดงสีหน้า ท่าทางไปพร้อมกับการฝึกหายใจที่ถูกต้องควบคู่กัน แบบธรรมชาติไม่ดูแสร้งทำ เพราะคนฟังรู้สึกได้ค่ะ
          4. เปลี่ยนน้ำเสียง : คือ การฝึกเพื่อเปลี่ยนน้ำเสียง ที่เราเป็นอยู่ ให้มีความคมชัด หนักแน่น ยิ่งใหญ่ น่าหลงใหล ชวนคล้อยตาม ในข้อนี้ไม่ใช่การฝึกเลียนแบบเสียงใคร ไม่ต้องผ่าตัดกล่องเสียงให้วุ่นวาย แต่เป็นการนำเสียงตนเอง ที่สวรรค์สร้างมาคู่กับเราแต่เกิด ปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมชาติ สะกดใจผู้ฟัง มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง บางคนเกิดมาน้ำเสียงเล็ก ใหญ่ แหลม เสียงแหบ ต่างกัน เหล่านี้ ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหา สามารถแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดมาเสียงหล่อ เสียงสวยเหมือนใคร
          วิธีเปลี่ยนเสียง คือ ฝึกให้น้ำเสียงมีความหนักแน่น เสียงนิ่ง มีความก้องกังวาน ฐานเสียงกว้าง ปรับเสียงใหญ่ให้เป็นเสียงทุ้ม ปรับเสียงเล็กเปลี่ยนให้เป็นน้ำเสียงดัง มีช่องเสียงกว้างสม่ำเสมอ ปรับเสียงแหบให้ชวนฟังมีน้ำเสียงหนักเบา เน้นประโยคที่สำคัญ
เรื่องเปลี่ยนเสียงนี่ หลายท่านบอกผู้เขียนว่ายาก จริงๆไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนการอ่านมากๆ อ่านหนังสือทุกวัน ฝึกอ่านเรื่องที่หลากหลาย (อ่านเกินวันละ 7 บรรทัดนะคะ) ฝึกพูดนำเสนองาน นำเสนอในห้องประชุม ฝึกแสดงความคิดเห็น พูดต่อหน้าสาธารณชนจำนวนมากบ่อยๆ หากไม่มีพื้นที่ฝึกจริงๆ แนะนำ ฝึกพูดในห้องน้ำ พูดใต้ต้นไม้ ยืนคุยกับธรรมชาติ (ระวัง ข้อนี้นิดหน่อย ใครเห็นและไม่เข้าใจ อาจคิดว่า เราไม่เต็มเต็ง) ฝึกยืนอ่านบทวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบันบ่อยๆ ประจวบกับการประสานท่วงท่าที่สัมพันธ์กับน้ำเสียงในเรื่องที่พูด รับรองสะกดใจผู้ฟังแน่นอน
          5. หาระดับความดังสุด เบาสุดของเสียง : ฝึกพูดดังๆเพื่อหาจุดที่เราคิดว่า ผู้ฟังได้ยินพอดี ไม่ดูตะโกนมากไป จุดเสียงดังสุดและเสียงเบาสุด (พูดดังแบบผู้ฟัง จำนวนผู้ฟัง 50 คนขึ้นไปได้ยิน พูดเบาแบบ จำนวนผู้ฟัง 10 คนได้ยิน)
          เล่ากันมาพอควรแล้ว สำหรับหลายท่านที่สนใจ เรื่องวิธีพูดสร้างเสน่ห์ในโอกาสต่างๆ หากมีเวลา ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังโอกาสหน้าค่ะ วันนี้ลองไปเริ่มฝึกดูแลเสียง ฝึกวิเคราะห์เสียงตนเอง ฝึกพื้นฐานทั่วไปด้านการพูดก่อนค่ะ ในครั้งหน้า เสียงที่คุณพูดมาตั้งแต่เกิด แต่ละลักษณะเช่น เสียงสูง เล็ก ใหญ่ พูดรัว เสียงแหบ บ่งบอกถึง ตัวคุณเป็นคนแบบใด วิธีปรับแก้แบบไหนเหมาะสม ดูมีเสน่ห์ให้คนเหลียวหลังมอง ขอติดไว้ก่อนนะคะ?  

วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์


E-Mail : [email protected]

วันที่ : 04 มกราคม 2564

จำนวนผู้เข้าชม 1510 คน

กรุณากดถูกใจ และ เพิ่มเพื่อน Line

บทความที่เกี่ยวข้อง


Feedback 5 ขั้นตอนเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด KPI

คุณสมบัติหัวหน้างานที่ดีไม่เพียงแต่จะบริหารทีมงานได้เท่านั้น การให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทีมงาน สร้างคนเก่งในองค์กร (Talent people) ลดอัตราการลาออก (Turnover rate)

อบรม ESB & AIDET Plus แก้ปัญหาการบริการและการสื่อสาร ?

อบรมพฤติกรรมบริการ (ESB) ไปแล้ว การเรียนรู้หลักสูตรเรื่อง AIDET Communications จำเป็นหรือไม่ ? AIDET เนื้อหาการเรียนรู้เรื่องอะไร ? นี่คือคำถามที่ผู้จัดอบรมในคลินิก และโรงพยาบาลหลายแห่ง

Human Touch In Healthcare ด้วย Touching & Feeling

Human Touch ถูกพูดถึงในการดูแลรักษาสุขภาพ มุมมองการมีจิตบริการมานาน ควบคู่กับคำว่า Empathy (การเอาใจใส่) ซึ่งหากพูดถึงแง่การลงมือปฏิบัติงาน Human Touch มีแนวทางนำไปใช้ได้อย่างไร ?

ประโยชน์การสื่อสารแบบ AIDET

ในช่วงที่ผู้เขียนได้ฝึกงานและทำวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลต่างประเทศ ได้สังเกต รวมถึงศึกษาวัฒนธรรมการดูแลผู้รับบริการของบุคลากรทางการแพทย์หลายกลุ่ม ทั้งการปฏิสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติงาน

จิตวิทยาบริการ

หลัก “จิตวิทยาบริการ (Service Psychology)” ได้รับการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรในภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมภาคการบริการมาช้านาน การทำงานที่ต้องมีการติดต่อ สื่อสารส่งผ่านบุคคล

เทคนิคการพูดเพิ่มภาวะผู้นำ

คำพูดเป็นปราการด่านแรกแห่งความสำเร็จในอาชีพ เป็นการแสดงออกด้วยวจนภาษาดึงดูดผู้คนเข้ามาสนใจหรือผลักออกไปจากจากวงโคจรชีวิต โดยเฉพาะงานที่ให้บริการทั้งทางแบบออนไลน์ ออฟไลน์ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทักษะการพูด