หน้าแรก หน้ารวมบทความ บุคลิกภาพ 7 แบบก่อนซื้อสินค้าบริการ

บุคลิกภาพ 7 แบบก่อนซื้อสินค้าบริการ


ผู้เขียน : อาจารย์ วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์   วันที่ :   จำนวนผู้เข้าชม 494 คน

กด Like กด Share บทความให้เพื่อน

Facebook Twitter Line

     ลูกค้าบางท่านซื้อง่ายไม่ต้องพูดเยอะ บางรายพิจารณาเลือกซื้ออยู่นานแต่สุดท้ายขอกลับไปตัดสินใจอีกครั้ง บางรายซื้อเพราะสถานการณ์บังคับ ไม่ว่าเหตุผลที่กล่าวมาแตกต่างกันอย่างไร แต่สิ่งแรกที่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการต้องทำคือ “การปรับตัว” รู้เท่าทันผู้อุปโภคผู้บริโภคมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเสนอ ให้เข้าถึงช่องทางการรับรู้ที่ง่ายรวดเร็ว สื่อสารแบบสองทาง (Two -way communication) สร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าบริการสร้างแบรนด์สินค้าให้เติบโตแข็งแกร่งเหนือการยืนย่ำอยู่กับที่แบบเดิม นำประสบการณ์ที่ตนเองพบมาปรับปรุงวิธีการนำเสนอให้ตรงความต้องการผู้ใช้

     วันนี้ ผู้เขียนจึงนำเสนอลักษณะบุคลิกภาพผู้ซื้อสินค้าบริการ มี 7 แบบ แตกต่างออกไป ดังนี้

     บุคลิกภาพผู้ซื้อสินค้าบริการ  7 แบบ

     แบบที่ 1 : มีความจงรักภักดีในสินค้าและบริการ (Brand Loyalty)

       กลุ่มลูกค้าประเภทนี้ถือเป็นลูกค้าที่มีความรักในสินค้าบริการอย่างจริงใจ อาจด้วยประสบการณ์ครั้งแรกครั้งต่อๆไป ที่ได้พบเจอของลูกค้า (Customer Journey) การสัมผัสจุดที่เคยใช้บริการ (Touchpoint) แล้วมีความพึงพอใจทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้าชั้นเยี่ยมที่ต้องได้รับการดูแลใส่ใจและสร้างประสบการณ์ที่ดีสม่ำเสมอ (Customer Experience)  ไม่มองว่าลูกค้าคือของตายยังไงก็ใช้ของเรา เพราะเมื่อนานไปบริการเปลี่ยนใจคนซื้ออาจเปลี่ยนไปตามเวลา เช่น ลูกค้าเคยมาโรงพยาบาลใช้บริการรักษาคลินิกผิวหนังเป็นประจำ เนื่องจากชอบการดูแลรักษาความใส่ใจของแพทย์ พยาบาลพนักงานเวรเปล หากต้องย้ายที่อยู่ไปอีกจังหวัดก็ยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลนี้เช่นเดิมพร้อมแนะนำญาติพี่น้องและ เพื่อนอีกด้วย

     แบบที่ 2 : ซื้อสินค้าบริการเพราะจำเป็น (Apathetic)

     กลุ่มนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าบริการได้ จึงเสมือนเป็นภาคบังคับมีความจำเป็นต้องใช้ในขณะนั้นหรือใช้อย่างต่อเนื่อง  โดยไม่คำนึงในเรื่องของราคาแต่ต้องมีสินค้าบริการตอบสนองต่อผู้ซื้อ เช่น ลูกค้าพบว่าสายชาร์ตแบตเตอรี่โน๊ตบุคชำรุดในขณะที่ต้องพิมพ์งาน ได้ตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์พบว่าร้านค้า B มีสินค้าดังกล่าว ส่งได้ทันเวลาภายใน 1 วัน ในขณะที่ร้านอื่นๆใช้เวลาตรวจสอบสินค้านาน ระบบการจัดส่ง 3-5 วัน ลูกค้าจึงสั่งสินค้าร้าน B ซึ่งทันกับการนำไปใช้งานจริง

    แบบที่ 3 : ซื้อสินค้าบริการเพราะต้องการประหยัด (Economic - minded)

     กลุ่มนี้เวลาเลือกซื้อสินค้าบริการมีการหาข้อมูลเปรียบเทียบหลายๆแหล่ง โดยปัจจัยที่เลือกซื้ออันดับแรกคือราคาถูกกว่า การใช้งานพอใช้ได้ดีหรือคุ้มค่าในระยะเวลาราคาที่จ่ายไป กลุ่มลูกค้าประเภทนี้ค่อนข้างตัดสินใจเลือกซื้อนาน เพื่อหาสิ่งที่ทดแทนการใช้สินค้าบริการได้เทียบเคียงกับสิ่งที่ตนเองต้องการมากที่สุด  เช่น ลูกค้าต้องการซื้อเตารีดไอน้ำแบบพกพา จึงหาข้อมูลเปรียบเทียบราคาหลายรุ่นพบว่าเตารีดไอน้ำยี่ห้อ C ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ขนาดเล็กน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม ร้อนเร็วภายใน 10 วินาที พกพาไปนอกสถานที่ต่างจังหวัดสะดวก แถมโปรโมชั่นซื้อในระยะเวลาที่กำหนดลดลงอีก 10 % จึงตัดสินใจซื้อแม้พบว่ายี่ห้อ B น้ำหนักเบากว่าราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่ไม่มีส่วนลด

     แบบที่ 4 : ซื้อเพราะนิยมชมชอบต้องการมีเอกลักษณ์เฉพาะ (Personalizing)

     กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่พิจารณาสินค้าบริการจากความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ว่าสินค้าบริการออกมาในรูปแบบใด ราคาเท่าไหร่ผลิตภัณฑ์ประเภทใด สินค้าตามฤดูกาล ลูกค้ากลุ่มนี้ยังคงติดตามใช้สินค้าบริการเพื่อแสดงความมีระดับ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนเหนือผู้อื่น เช่น  ลูกค้าชอบดื่มกาแฟอเมริกาโน่ร้าน DD ทุกครั้งที่อยากดื่มกาแฟจะไปซื้อเฉพาะร้าน DD แม้ราคาสูงถึงแก้วละหนึ่งร้อยกว่าบาทเมื่อเทียบกับโอเลี้ยงแก้วหนึ่งราคาไม่กี่สิบบาทของร้านชงกาแฟทั่วไป แต่ลูกค้าเลือกดื่มกาแฟร้าน DD เพราะชอบบรรยากาศ สถานที่ ผู้คน มีความสุขทางใจทุกครั้งที่ได้ดื่มไม่ได้คำนึงเรื่องราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ

     แบบที่ 5 : ประเภทมีเหตุมีผล (Rational Claim)

     กลุ่มผู้ซื้อประเภทนี้จะเลือกซื้อสินค้าบริการโดยยึดหลักผลลัพธ์ที่ได้หรือประโยชน์ที่แท้จริงในการใช้จ่าย ค่อนข้างใช้ความคิดเชิงเปรียบเทียบมากกว่าความรู้สึกหรือสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นไม่มีผลในการเลือก ใช้เวลาตัดสินใจนานพอควร หากสินค้าบริการดีตัดสินใจเลือกใช้อย่างไม่มีข้อแม้ เช่น ลูกค้าต้องการโรงแรมที่พักติดชายทะเลโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีอาหารเช้าอร่อย มีสปาในโรงแรม มีสระว่ายน้ำสำหรับเด็ก ห้องพักสะอาดปลอดภัยและมีร้านสะดวกซื้อใกล้ที่พัก เมื่อลูกค้านำข้อมูลเปรียบเทียบทั้งการเสนอแนะความคิดเห็นจากผู้เคยใช้จริงในกูเกิล การพิจารณาราคาเปรียบเทียบกันในเวบไซต์การท่องเที่ยว  สอบถามจากเพื่อนที่เคยเข้าพัก รวมถึงสอบถามพนักงานผ่านทางเคาน์เตอร์จึงตัดสินใจเลือกที่พักดังกล่าว 

    แบบที่ 6 : ประเภทชอบรูปลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก (Physical Appeal)

     ลูกค้ากลุ่มนี้มีความอ่อนไหวในการซื้อมาก มองผ่านเรื่องราคา การนำไปใช้ ประโยชน์ ความคุ้มค่า ความสะดวก แต่คำนึงแค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวเป็นหลัก เช่น กระเป๋าสะพายผู้หญิงแบรนด์ S ทุกรุ่นผลิตมารูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กบรรจุของได้เพียงกุญแจ ลิปสติก หรือสิ่งของขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว สำหรับโทรศัพท์มือถือทุกรุ่นหมดหวังในการใส่กระเป๋าแต่ไม่ว่าออกแบบมากี่รุ่น ลูกค้าประจำกลุ่มนี้สั่งซื้อแบบ Pre-Order ล่วงหน้าหมดเกลี้ยงทุกรุ่น เรียกว่าใส่ของไม่เยอะไม่ว่า ขอแค่ได้มาครอบครองก็เป็นสุขใจ กลุ่มผู้ซื้อกลุ่มนี้จึงมีกำลังการซื้อค่อนข้างสูง

   แบบที่ 7 : ประเภทซื้อเพราะเมตตาเห็นใจ (Ethical)

     เรียกแบบง่ายๆว่า “สงสารคนขาย” เลยช่วยอุดหนุน ซึ่งคิดว่าผู้อ่านหลายท่านเคยพบเจอประสบการณ์ตรงแบบนี้มาเป็นแน่ ผู้ซื้อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้ความรู้สึกสงสารเป็นเหตุผลสนับสนุนในการจ่ายเงิน เนื่องจากสินค้านั้นอาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่เล็งเห็นผลในเรื่องของการมีความช่วยเหลือเกื้อกูลมากกว่า เช่น ขณะที่คุณนั่งรับประทานทานอาหารในร้านอาหารอยู่นั้น มีคุณยายสูงอายุหลังค่อมเดินเข้ามาขายขนมทองม้วนถุงละ 20 บาท เหลือ 10 ถุงคุณยายจะกลับบ้านแล้ว คุณจึงตัดสินใจซื้อทั้งหมด โดยไม่ได้คิดไว้ว่าอร่อยไหม? ซื้อไปทานหมดไหม? ให้ใครทาน? ไม่ต่อรองและหวังช่วยยายเท่านั้น

    สำหรับผู้ขายสินค้าบริการในทุกแบบ ปัจจุบันการแข่งขันทางสินค้าบริการค่อนข้างสูง เก่าไปใหม่มามีอยู่มาก ผู้ผลิตสินค้าบริการจึงต้องปรับตัวให้ทันกระแสโลก โดยไม่ยึดติดความสำเร็จเดิม ปรับปรุงเดินหน้าเกินกว่าคู่แข่งวันละก้าว  

     ไม่ว่าผู้ซื้อจะมีลักษณะแบบใดใน 7 แบบสิ่งสำคัญเหนือสินค้าบริการที่ลูกค้าได้รับคือการบริการจากใจผู้ขาย “มอบรอยยิ้มที่มีค่าก่อนเปล่งวาจาว่าขอบคุณ” สร้างความประทับใจแรกพบและยืนยาว… 

วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์


E-Mail : [email protected]

วันที่ : 08 มีนาคม 2566

จำนวนผู้เข้าชม 494 คน

กรุณากดถูกใจ และ เพิ่มเพื่อน Line

บทความที่เกี่ยวข้อง


กำหนดตัวชี้วัด KPI แบบไม่มี JD

ธุรกิจหรือกิจการ SME ขนาดเล็กไม่มีการจัดทำใบกำหนดหน้าที่งาน อาจไม่สะดวกใช้การ ประเมินผลแบบ BSC เทคนิคง่ายๆ ในการกำหนดตัวชี้วัดผล สำหรับผู้จัดทำ KPI มือใหม่ กำหนด ตัวชี้วัด KPI แบบไม่มี JD ทำอย่างไร ?

Feedback 5 ขั้นตอนเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด KPI

คุณสมบัติหัวหน้างานที่ดีไม่เพียงแต่จะบริหารทีมงานได้เท่านั้น การให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทีมงาน สร้างคนเก่งในองค์กร (Talent people) ลดอัตราการลาออก (Turnover rate)

อบรม ESB & AIDET Plus แก้ปัญหาการบริการและการสื่อสาร ?

อบรมพฤติกรรมบริการ (ESB) ไปแล้ว การเรียนรู้หลักสูตรเรื่อง AIDET Communications จำเป็นหรือไม่ ? AIDET เนื้อหาการเรียนรู้เรื่องอะไร ? นี่คือคำถามที่ผู้จัดอบรมในคลินิก และโรงพยาบาลหลายแห่ง

ทฤษฎีตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการ

การเลือกใช้สินค้า และบริการนั้นเกิดจากการเรียนรู้ของผู้เลือกใช้ อาจมาจากข้อมูลสื่อโฆษณาในช่องทางต่างๆ ประสบการณ์คำบอกเล่า ประสบการณ์ตรงที่ได้รับมาจากผู้ใช้บริการ

พฤติกรรมบริการต่อลูกค้าทั่วไป คลินิก โรงพยาบาล

การบริการไม่ใช่สินค้าที่สามารถคงรูปรส กลิ่น เสียงได้เมื่อเปลี่ยนผู้ให้บริการพฤติกรรมการส่งมอบบริการอาจเปลี่ยนไปตามลักษณะของบุคคลนั้น สิ่งที่ทำให้พฤติกรรมการบริการคงที่คงอยู่นั้นคือ การสร้าง Empathy

การสื่อสารแบบ AIDET Plus ทุกแผนกในโรงพยาบาลทำอย่างไร ?

ในอดีตผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามหลักใบกำหนดหน้าที่งาน (Job Descriptions) โดยปฏิบัติงานแต่ละหน้าที่ตามขั้นตอนงาน (Work Instruction) ที่จัดทำขึ้นมาจากมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพตามหลักการความปลอดภัย